พญายักษ์ทศกัณฐ์

       ท้าวราพณ์, ท้าวราวณะ หรือ ราพณาสูร (สันสกฤต: रावण, Rāvaa) หรือมักเรียก ทศกัณฐ์ (ผู้มีสิบคอ คือ มีสิบศีรษะ) เป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ บุตรของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา เจ้าครองกรุงลงกา เดิมเป็นยักษ์ชื่อ “นนทก” กลับชาติมาเกิด ซึ่งนนทกมีหน้าที่ล้างเท้าให้กับเทวดาทั้งหลาย เทวดาเหล่านั้นก็มักจะลูบหัวนนทกจนล้าน นนทกจึงเกิดความแค้น เลยไปขอนิ้วเพชรจากพระอิศวร แล้วทำร้ายพวกเทวดาที่มาลูบหัวตน นนทกได้เข่นฆ่าเหล่าเทวดาตายนับไม่ถ้วน ทำให้พระอิศวรต้องร้องขอพระนารายณ์ให้มาช่วยปราบนนทกให้

250px-Ravana

     พระนารายณ์จัดการกับนนทก โดยการจำแลงองค์เป็นนางเทพอัปสรดักอยู่ตรงทางที่นนทกเดินผ่านเป็นประจำ ฝ่ายยักษ์นนทกเมื่อได้เห็นนางจำแลงจึงเกิดความหลงและเข้าไปเกี้ยวพาราสี นางจำแลงแสร้งทำยินดี โดยยื่นข้อเสนอว่าให้นนทกร่ายรำตามนางทุกท่าแล้วจะยินดีผูกมิตรด้วย และแล้วยักษ์นนทกก็ทำตามนาง โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นเล่ห์กล จนกระทั่งถึงท่านาคาม้วนหางนิ้วเพชรของนนทกชี้ไปที่ขาของตัวเอง ขานนทกก็หักลงทันใด นนทกล้มลง ทันใดนั้น นางแปลงกลายเป็นพระนารายณ์เหยียบอกนนทกไว้

       ก่อนตายนนทกอ้างว่าพระนารายณ์มีหลายมือตนสู้ไม่ได้ พระนารายณ์จึงให้คำสัตย์ว่า ให้นนทกไปเกิดใหม่ มีสิบเศียรสิบพักตร์ยี่สิบมือ เหาะเหินเดินอากาศได้ มีอาวุธนานาชนิดครบทุกมือ ส่วนพระนารายณ์จะไปเกิดเป็นมนุษย์มีสองมือและตามไปฆ่านนทกให้ได้ นนทกต่อมานนทกไปเกิดเป็นเปรตอยู่ที่เขาของพระอิศวรมีกระดูกยื่นออกมาจาก ศีรษะและใช้เส้นเอ็นของตนเล่นศอจนพระอิศวรลงมานนทกจึงขอพรให้ตนไปเกิดเป็นทศ กัณฐ์ตามคำของพระนารายณ์พระอิศวรจึงให้พรแล้วให้นนทกไปจุติในครรภ์พระนางรัช ดา มเหสีท้าวลัสเตียน เจ้ากรุงลงกา เกิดมาเป็นโอรสนามว่า ทศกัณฐ์

       ทศกัณฐ์ เป็นยักษ์รูปงาม มีสิบหน้า ยี่สิบกร ทรงมงกุฏชัย ลักษณะปากแสยะ ตาโพลง กายปกติสีเขียว แต่มีนิสัยเจ้าชู้ ตอนที่เกี้ยวพาราสีนางมณโฑได้เนรมิตร่างตนเองให้เป็นสีทอง

อาวุธของทศกัณฐ์มีดังกลอนต่อไปนี้ 

tossakan

กระทืบบาทผาดโผนโจนร้อง กึกก้องฟากฟ้าอึงอุด
มือหนึ่งจับศรฤทธิรุทร มือสองนั้นยุดพระขรรค์ชัย
มือสามจับจักรกวัดแกว่ง มือสี่จับพระแสงหอกใหญ่
มือห้าจับตรีแกว่งไกว มือหกฉวยได้คฑาธร
มือเจ็ดนั้นจับง้าวง่า มือแปดคว้าได้พะเนินขอน
มือเก้ากุมเอาโตมร กรสิบนั้นหยิบเกาทัณฑ์

      ไม่มีใครฆ่าทศกัณฐ์ให้ตายได้ เพราะได้ถอดดวงใจใส่กล่อง ฝากไว้กับอาจารย์ คือพระฤๅษีโคบุตร ด้วยความที่มีนิสัยเจ้าชู้ ได้ลักพาตัวนางสีดาผู้มีรูปโฉมที่งดงาม ไปจากพระรามที่เป็นพระสวามี เป็นเหตุให้เกิดศึกสงครามระหว่าง ฝ่ายพระราม กับ ฝ่ายทศกัณฐ์ จนญาติมิตรของฝ่ายทศกัณฐ์ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก สุดท้ายทศกัณฐ์เองก็ต้องตายเพราะนิสัยเจ้าชู้และความไม่ยอมแพ้ของตน ซึ่งก่อนตาย ทศกัณฐ์ได้รู้ตัวแล้วว่าต้องตายแน่ แต่ด้วยขัตติยมานะจึงต้องต่อสู้กับพระราม จึงแต่งองค์อย่างงดงาม และถูกศรพรหมมาศของพระรามฆ่าตาย ก่อนตาย ทศกัณฐ์ได้เห็นภาพว่า แท้ที่จริงแล้วพระรามคือ พระนารายณ์อวตาร และได้สั่งเสียกับน้องชายตัวเอง คือ พิเภก ด้วยใบหน้าทั้งสิบ ซึ่งเรียกว่า “ทศกัณฐ์สอนน้อง” และภายหลังพิเภกก็ได้ครองกรุงลงกาสืบต่อแทน

   ปากหนึ่งว่าโอ้พิเภกเอ๋ย ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่
ตัวเราก็จะม้วยชีวี ในเวลานี้ด้วยศรพิษ
ปากสองว่าเจ้าจะครองยศ ร่วมท้องสืบสายโลหิต
จะได้ผ่านลงกาสมคิด เป็นอิสรภาพแก่หมู่มาร
ปากสามขอฝากมณโฑด้วย โปรดช่วยบำรุงเป็นแก่นสาร
ทั้งอัคคีกัลยายุพาพาล ฝูงสนมบริวารทั้งนั้น
ปากสี่ว่าเจ้าจะครองยศ ปรากฏเป็นจอมไอศวรรย์
จงเอ็นดูสุริยวงศ์พงศ์พันธุ์ โดยธรรม์สุจริตประเวณี
ปากห้าจงดำรงทศพิธ อย่าทำทุจริตให้เหมือนพี่
ตัดโลภโอบอ้อมอารี แก่โยธีไพร่ฟ้าประชากร
ปากหกว่าเจ้าจงอดโทษ ซึ่งกริ้วโกรธด่าว่ามาแต่ก่อน
อย่าให้เป็นเวราอาวรณ์ แก่เราผู้จะจรไปเมืองฟ้า
ปากเจ็ดขอฝากนคเรศ อันทรงวงศ์พรหเมศนาถา
สืบมาแต่องค์พระอัยกา เมตตาอย่าให้จลาจล
ปากแปดว่าเราเลี้ยงท่าน ก็ประมาณหมายใจให้เป็นผล
ตัวเราชั่วเองจึงเสียชนม์ แล้วได้ร้อนรนทั้งแผ่นภพ
ปากเก้าว่าพี่จะลาตาย น้องชายเมตตาช่วยปลงศพ
อย่าให้ค้างราตรีในที่รบ ไตรภพจะหมิ่นนินทา
สิบปากสิ้นฝากสิ้นสั่ง สิ้นกำลังสิ้นคิดยักษา
พิษศรร้อนรุ่มทั้งกายา อสุรากลิ้งเกลือกเสือกไป

     ทศกัณฐ์ เป็นหนึ่งในยักษ์ทวารบาลสองตน ที่ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่กับสหัสเดชะ เพราะถือว่าเป็น ยักษ์ที่มีฤทธิ์มากเท่าเทียมกัน

     มีการวิเคราะห์กันว่า ตัวละครอย่าง ทศกัณฐ์ หรือบรรดายักษ์ในเรื่อง เป็นตัวแทนของชาวทัสยุ หรือ ดารวิเดียน ซึ่งเป็นชนชาวผิวดำที่อยู่ทางตอนใต้ของอินเดียในสมัยโบราณ และพระราม หรือ พลพรรคลิง เป็นตัวแทนของชาวอารยัน หรือชาวผิวขาวที่อยู่ทางตอนเหนือ และชาวอารยันก็ได้ทำสงครามชนะชาวทัสยุ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการแต่งวรรณกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ นี้ขึ้นมาเพื่อยกย่องพวกตนเอง

About irukthai

เราใช้ภาษาไทยด้วยใจรัก...

Posted on พฤษภาคม 5, 2013, in เกร็ดวรรณคดี. Bookmark the permalink. ใส่ความเห็น.

ใส่ความเห็น