คะ – ค่ะ

ผู้เขียนพบเห็นการใช้คำว่า “คะ – ค่ะ” ผิดบ่อยมากในหมู่สังคมออนไลน์ ซึ่งคำเหล่านี้ถ้ามองผิวเผินไม่ได้คิดอะไรก็ไม่ผิดหนักสาหัสสากรรจ์เพียงใด แต่หากมองกันดีๆ แล้วคำภาษาไทยเรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งสิ่งเหล่านั้นคือ เสียงวรรณยุกต์ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ภาษาในโลกที่มีเสียงเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบนี้ และจากที่กล่าวมาคำสองคำที่ได้เอ่ยไว้ข้างต้นเกี่ยวข้องกับเสียงวรรณยุกต์โดยตรง

โดยคำในภาษาไทย เมื่อมีเสียงวรรณยุกต์ใด ความหมายของคำจะเปลี่ยนไปด้วย เช่นจากที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ ก็คงจะเป็น ปา – ป่า – ป้า – ป๊า – ป๋า

ทีนี้เรามาดูคำว่า “คะ – ค่ะ” กันบ้าง

   คำว่า “คะ” เป็นคำอักษรต่ำคู่ มีเสียงวรรรยุกต์เป็นเสียงตรี ใช้สระเสียงสั้น อีกทั้งยังเป็นคำตาย จึงทำให้ตรงกับกฎเกณฑ์หนึ่งที่ว่า คำตายสระเสียงสั้น มีพื้นเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงตรีไม่มีรูปวรรณยุกต์กำกับ ซึ่งมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยคคำถาม เช่น ไปไหนคะ?, สนุกมั้ยคะ?

   คำว่า “ค่ะ”  เป็นคำอักษรต่ำคู่เช่นกัน มีเสียงวรรรยุกต์เป็นเสียงโท โดยสังเกตได้จากอักษรต่ำเสียงจะมากกว่ารูป ๑ ขั้นเสียงเสมอ ใช้สระเสียงสั้น อีกทั้งยังเป็นคำตาย ซึ่งมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยคบอกเล่าหรือการตอบรับ เช่น สนุกดีค่ะ, ใช่ค่ะ

ฉะนั้นแล้ว คนไทย เยาวชนไทย พึงใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันด้วยนะคะ เพื่อรักษาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภาษาไทยไว้ให้อยู่คู่สังคมไทยและประเทศไทยตลอดไป  ขอบคุณค่ะ

About irukthai

เราใช้ภาษาไทยด้วยใจรัก...

Posted on พฤษภาคม 24, 2013, in คำไทยนี่นี้มี(ต่าง)ความหมาย. Bookmark the permalink. ใส่ความเห็น.

ใส่ความเห็น